กองทุนหมู่บ้าน และชุมชนเมืองเป็นมาอย่างไรอย่างไร
นอกจากคำว่าโครงการประชารัฐแล้ว หลายๆคนได้ยินได้ฟังเรื่องราวของ กองทุนหมู่บ้าน มาพอสมควรแล้ว! ซึ่งที่มาที่ไปนั้นเป็นมาอย่างไร ที่จะต้องยกตัวกองทุนหมู่บ้านมาพูดถึง นโยบายในเรื่องนี้ถือเป็นเรื่องเร่งด่วนที่เอื้อประโยชน์อย่างมากให้แก่ประชาชนในระดับรากหญ้าอย่างแท้จริง ทำให้ชุมชนของเรามีความเข้มแข็งขึ้น และสามารถช่วยเหลือตนเองได้ในระดับหนึ่งเลย ส่งผลให้การกินดีอยู่ดีของประชาชนซึ่งเป็นเศรษฐกิจฐานราก จะทำให้ทั้งมีการฉุดดึงเศรษฐกิจประเทศโดยรวมให้ดีขึ้นด้วย
นโยบายกองทุนหมู่บ้าน และชุมชนเมือง เริ่มต้นในตอนแรกๆ นั้นโดยการจัดแบ่งเป็นกองทุนละ 1 ล้านบาท เพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียน และเสริมสร้างการพึ่งพาตนเองด้วยภูมิปัญญาของตนเอง จากนั้นรัฐบาลจึงได้ส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปฝึกอบรมความรู้ในด้านต่าง ๆ ให้กับประชาชนในหมู่บ้าน โดยเรียกตัวเองว่า ประชารัฐ เพื่อให้ประชาชนเข้าใจการบริหารการจัดการกับกองทุนที่ได้รับมานี้อย่างถ่องแท้ยิ่งขึ้น
ซึ่งการส่งเสริมการเรียนรู้ของชุมชนนี้ถือว่าเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้เกิดประสิทธิภาพในการบริหารจัดการกองทุนต่อไป ทั้งนี้ผลสำเร็จของการกระทำต้องเกิดจากความช่วยเหลือเอื้ออาทรซึ่งกันและกันแก่กองทุนสมาชิก โดยอาศัยการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันตามวิถีชุมชน และวัฒนธรรมระหว่างกัน เพื่อให้เกิดการยกระดับของกองทุนให้มีความเท่าเทียมกัน จากเพียงแค่การอยู่รอด สู่การกินดีอยู่ดีขึ้น ซึ่งยิ่งถ้าหากถ้ามีการจัดการบริหารที่ดี ถือว่ายอดเยี่ยมมากสำหรับกองทุนหมู่บ้าน
แต่ที่พบปัญหามากมายในบางพื้นที่คือไม่มีการจัดการที่ดี ทำให้กลายเป็นปัญหา สำหรับวันนี้เราจะมาทำความรู้จักกับวัตถุประสงค์หลักของ กองทุนหมู่บ้านนั้นเป็นอย่างไบ้างเพื่อให้เราได้รู้ และนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดสำหรับกองทุนหมู่บ้านนี้
วัตถุประสงค์กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง
- เป็นแหล่งเงินทุนหมุนเวียน สำหรับการลงทุนช่วยพัฒนาอาชีพของประชาชน สร้างงานมีงานทำสร้างรายได้ หรือ เพิ่มรายได้ต่อตนเองและครอบครัว
แน่นอนทำให้มีการลดรายจ่ายขึ้นช่วยบรรเทาเหตุฉุกเฉิน และจำเป็นเร่งด่วน - ส่งเสริมและพัฒนาหมู่บ้านและชุมชนเมืองให้มีขีดความสามารถจัดระบบเงินกองทุน และบริหารจัดการเงินกองทุนหมู่บ้านได้
- เสริมสร้างกระบวนการพึ่งพาตัวเองของหมู่บ้านและชุมชนเมือง เกิดการเรียนรู้ การสร้างและพัฒนาความคิดริเริ่ม เสริมสร้างศักยภาพและส่งเสริมเศรษฐกิจพอเพียง
- กระตุ้นเศรษฐกิจในระดับฐานราก เสริมสร้างภูมิคุ้มกันทางเศรษฐกิจและสังคมในอนาคต
- เกิดศักยภาพ, ความเข้มแข็งของประชาชนในหมู่บ้าน ตลอดจนชุมชนเมือง เศรษฐกิจดีขึ้น สังคมแข็งแรง
เมื่อประชาชนในท้องถิ่นรู้วัตถุประสงค์ไปแล้วความรู้ความเข้าใจจะเกิดแก่ประชาชนยิ่งขึ้น สามารถเห็นคุณค่าของกองทุนหมู่บ้าน และชุมชนเมือง ทำให้เป็นศูนย์กลาง และโครงข่ายการเรียนรู้ เงินทุน สวัสดิภาพ สวัสดิการ และการแก้ไขปัญหาของหมู่บ้านและชุมชนเมือง เกิดการพึ่งพาตนเองอย่างยั่งยืน ครัวเรือนสมาชิกมีความเป็นอยู่ที่พอเพียง อบอุ่น เข้มแข็งสู่การเป็นภูมิคุ้มกัน ลดความยากไร้ ขาดรายได้ เพราะกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองคือเส้นทางสู่ความยั่งยืน ถ้ามีการบริหารกองทุนที่มีประสิทธิภาพ
กองทุนหมู่บ้าน ชาวบ้านได้ประโยชน์จริงหรือ?
ที่จริงแล้วกองทุนหมู่บ้านใครได้ประโยชน์กันแน่?? ชาวบ้านตาดำๆเขาได้รับประโยชน์จากกองทุนหมู่บ้านจริงไหม ก่อนที่เราจะไปรู้ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร เรามาทำความรู้จักกับ กองทุนหมู่บ้านก่อน กองทุนหมู่บ้านคือแหล่งเงินทุนหมุนเวียนสำหรับการลงทุนเพื่อพัฒนาอาชีพ สร้างงาน สร้างรายได้ และบรรเทาเหตุจำเป็นเร่งด่วนของชุมชนเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในระดับรากหญ้า และเสริมสร้างภูมิคุ้มกันทางเศรษฐกิจและสังคมของประชาชนทั่วประเทศ ส่งผลต่อสังคม เศรษฐกิจ การเมือง และวัฒนธรรม ดังนี้
- ด้านสังคม เป็นการสร้างโอกาสให้ประชาชนในหมู่บ้าน และชุมชนเมืองสร้างแหล่งเงินของตนเอง จากการคิดเอง ตัดสินใจเอง และทำเอง เพื่อพึ่งพาตนเองในอนาคต
- ด้านเศรษฐกิจ มีการกระจายเงินทุนในท้องถิ่น ทำให้เกิดการสร้างงานในธุรกิจของชุมชนซึ่งเป็นรากฐานที่เข้มแข็งและยั่งยืน
- ด้านการเมือง ส่งเสริมระบอบประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมเพื่อนำมาใช้ในชุมชนของตนเอง
- ด้านวัฒนธรรม ทำให้เกิดความสามัคคี ความเอื้ออาทร และการกระจายความเสมอภาคในชุมชน
ข้อจำกัด หรือจุดอ่อนของการบริหารโครงการ
หมู่บ้านถ้ามีการจัดการบริหารที่ดีก็ไม่น่ามีปัญหาอะไร ประโยชน์ดีๆก็จะเกิด แต่มันไม่เป็นอย่างนั้นเสมอไป ในเมื่อกองทุนหมู่บ้านที่เราเคยทราบๆ กันคือ มันเก็บเงินคืนไม่ค่อยไม่ได้ มีการบริหารจัดการที่ไม่เป็นระบบ ซึ่งบางหมู่บ้านนั้นจัดการกองทุนแบบพวกใครพวกมัน แม้ว่ากฎระเบียบใหม่ที่จะออกมาคือ ให้นำเงินไปใช้ในการลงทุนประกอบอาชีพเท่านั้น ห้ามนำไปชำระหนี้ค้างเก่าต่างๆ แต่ถ้ากลับไปชำระหนี้ คำถามที่เกิดขึ้นก็คือใครจะได้ประโยชน์ล่ะ ซึ่งหากเป็นกองทุนหมู่บ้านจริงๆ คงตรวจสอบกันได้ยาก เพราะกองทุนหมู่บ้านนั้นเกิดขึ้นมานานหลายปีแล้วตั้งแต่รัฐบาลสมัยก่อนๆ ที่มีการกระจายเงินกองทุนตามชุมชนหมู่บ้านต่างๆ ทั้งในกรุงเทพและต่างจังหวัด ซึ่งแต่ละหมู่บ้านจะต้องมีคณะกรรมการที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายผ่านการเลือกตั้งจากคนในชุมชน มีสำนักงานเขต หรือ อำเภอรับรอง จึงจะได้เงินกองทุนหมู่บ้านให้นำไปบริหารจัดการ
มองกันตามความจริงแล้ว กองทุนหมู่บ้านถือเป็นที่สามารถช่วยให้คนมีรายได้น้อยมีแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยถูก หากมีการบริหารจัดการที่ดี คนที่ไม่ได้กู้ก็จะมีเงินออม และมีดอกเบี้ยจากการให้สมาชิกกองทุนได้กู้ แต่อย่างที่กล่าวมาบางหมู่บ้านมีการบริหารจัดการกองทุนที่ไม่ดี มีการยักยอกทำให้เงินกองทุนหมู่บ้านที่เคยได้กันนั้นไม่ทั่วถึง บางหมู่บ้านไม่มี บางหมู่บ้านก็สามารถนำเงินไปทำให้งอกเงย และเกิดดอกผลได้ ปัญหาต่างๆ เหล่านี้หากไม่มีการแก้หรือกฎกติกาบังคับกับกลุ่มที่ได้สิทธิในการบริหารจัดการก็เหมือนกับเอาเงินภาษีไปใช้โดยที่หาประโยชน์กลับเข้าสู่ท้องถิ่นได้น้อยมาก
แย่ไปกว่านั้น หลายคนยังไม่รู้เลยด้วยซ้ำว่าหมู่บ้านตัวเองมีเงินกองทุน เพราะการบริหารจัดการภายในชุมชนหรือหมู่บ้านไม่มีการประชาสัมพันธ์ ไม่มีการชักชวนให้คนในหมู่บ้านได้เป็นสมาชิก เงินต้นทุนไปจำกัดอยู่แค่บางกลุ่ม เรื่องเหล่านี้ผู้มีอำนาจเบื้องบนอาจรู้แต่แก้ไขไม่ได้ หรือ อาจไม่รู้เลยก็ได้ และเชื่อว่าหลายๆคนคิดว่าในกรุงเทพคงไม่มีหมู่บ้านไหนมีกองทุนหมู่บ้าน ซึ่งขอยืนยันเลยว่ามีจริง หมู่บ้านชุมชนที่กระจายในเขตกรุงเทพมีหลายๆหมู่บ้านที่ได้กองทุนหมู่บ้านตั้งแต่ครั้งแรกที่จัดตั้ง แต่ก็อย่างที่กล่าวเพราะการบริหารจัดการกระจุกแค่คนในกลุ่มมีการเลือกพวกพ้อง ทำให้เงินจำนวนนี้มีการบริหาร และกระจายประโยชน์ได้ไม่ทั่วถึง
ดังนั้น หากจะมีการคัดค้านนโยบาย กองทุนหมู่บ้าน ก็คงไม่แปลกอะไร เพราะทำแล้วไม่เห็นผลและมันเสี่ยงกับการที่จะได้ผลตอบแทนที่งอกเงยเพื่อคนในชุมชนหรือหมู่บ้านจริงๆ หมู่บ้านไหนจัดการได้ดีเงินก็งอกเงยนำมาพัฒนาชุมชน เป็นกองทุนที่ช่วยเหลือคนในหมู่บ้าน แต่บางหมู่บ้านคนจัดการเอาเงินไปหมุนก็มี ซึ่งก็ไม่ทราบว่าทำไมไม่มีการตรวจสอบ แล้วแบบนี้จะเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจได้อย่างไร ในเมื่อคนรากหญ้าเข้าไม่ถึงเงินจำนวนนี้ กฎเกณฑ์ต่างๆที่จะออกมาใหม่กับเงินก้อนใหม่คงต้องมีความรัดกุมให้มากกว่านี้